“มองAEC”โดยวิกรม กรมดิษฐ์ สำหรับคม ชัด ลึก 18/1/12
ระยะนี้มีการพูดถึง AEC กันอย่างตื่นตัวทุกภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวของการมอง AEC เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจแล้วนำไปสู่การเตรียมตัวก่อนที่ประเทศต่างๆในอาเซียนของเราจะมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในอีกสามปีข้างหน้านี้
AECย่อมาจาก ASEAN Economic Community คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกิดขึ้นมาเมื่อ 44 ปีที่แล้ว ต้นเหตุการเกิด AECมาจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัสเซียเกิดมีลัทธิคอมมิวนิสต์จากเลนิน เป็นผู้นำความคิดจากมาร์กซิสม์เข้ามาพัฒนา ปรับปรุง และปฏิวัติราชวงศ์ในรัสเซีย คือการใช้วิธีป่าล้อมเมือง หรือคนจนที่มีกว่าคนที่มีอันจะกินในเมือง ความสำเร็จของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้จึงถือเป็นรากเหง้า ต่อมาในจีน ผู้นำเหมาเจ๋อตุงได้ใช้แนวคิดเดียวกับเลนิน ประเทศในอดีตมักปกครองโดยจักรพรรดิ์ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มเล็ก เพราะมีคนจนมากกว่า ทำให้เกิดการนำแรงงานหรือชุมชนของคนที่จนกว่ามาพัฒนาโดยหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.ซุนยัตเซ็นที่ถือเป็นผู้ที่ล้มรัฐบาลของจักรพรรดิ์ในจีน
และถึงแม้ว่าเจียงไคเช็คจะชนะสงครามกับญี่ปุ่นก็ตาม แต่หลังจากนั้นได้ถูกเหมาเจ๋อตุงขับออกนอกประเทศไปอยู่ที่ไต้หวัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายหลังจากที่เหมาเจ๋อตุงได้ยึดครองประเทศจีนเข้าไปสู่เกาหลีเหนือ สงครามเกาหลีเหนือได้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว สงครามเกาหลีเหนือครั้งนั้นถือเป็นช่วงสงครามที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากลัทธิที่ต่างกัน สงครามเกาหลีถือเป็นตัวเริ่มของสงครามเย็น สาเหตุที่มหาอำนาจไม่ประจัญหน้ากันเพราะว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการใช้ระเบิดปรมาณู 2 ลูกได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 200,000 คนในญี่ปุ่น
สงครามเย็นได้ขยายตัวจากเกาหลีเหนือ มีการแบ่งเขตเมื่อสงครามยุติลงเป็นเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ แต่การฟักตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ขยายตัวสู่สงครามอินโดจีน จะเห็นว่าเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากจีน เป้าหมายของสงครามเย็นนั้นคือการได้ครอบครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจอย่างอเมริกาและยุโรป
การทำสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้รัฐสภาในอเมริกาหรือยุโรปเบื่อหน่ายกับค่าใช้จ่าย และการสนับสนุนจากฝั่งอเมริกาจึงอ่อนแอลง โอกาสที่จะถูกคอมมิวนิสต์ครอบครองจึงมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุของการก่อตัวของประชาคมอาเซียนขึ้น โดยเริ่มจากการเมืองที่ต้องสร้างการเมืองที่มั่นคง ด้วยการร่วมมือกันของประเทศในภูมิภาคนี้ที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในภูมิภาคนี้ยังถือเป็นลัทธิเสรีนิยมอยู่
เป้าหมายหรือนโยบายของอาเซียนนั้นเพื่อความอยู่รอดในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงนำไปสู่ความร่วมมือสร้างความมั่นคงในด้านกลาโหมในระบบเสรีนิยม ทุกคนมองว่าเมื่ออเมริกาและยุโรปอ่อนแอ ประเทศไทยต้องถูกคอมมิวนิสต์ครอบครองแน่นอน ดูจากความอ่อนแอทางด้านการบริหาร และความอ่อนแอทางด้านความมั่นคง แต่ด้วยความสามารถของท่านคึกฤทธิ์ ปราโมชได้ไปจับมือกับเหมาเจ๋อตุงในปีค.ศ. 1975 และขอให้เหมาเจ๋อตุงลดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแปรผันของการร่วมมือของคอมมิวนิสต์ ที่มีรัสเซียและจีนเป็นสายการสนับสนุน ทำให้ประเทศไทยได้มีการปรับตัวและเกิดความมั่นคง
เมื่อความมั่นคงมีมากขึ้น ประเทศไทยไม่ถูกครอบครอง ความมั่นใจของประเทศส่วนที่เหลือจึงดีขึ้น และขยายตัวไปสู่เศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายด้านสังคมและวัฒนธรรม เมื่อความมั่นคงดี เศรษฐกิจดีขึ้น จึงหันมาดูแลเรื่องวัฒนธรรม
หลังจากที่มีเป้าหมายและนโยบายแล้ว สิ่งที่สมาชิกในประชาคมต้องการคือเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะเมื่อ 44 ปีที่แล้วเราไม่มีความเชื่อมั่นถึงความอยู่รอดของประเทศในภูมิภาคนี้เลย ดังนั้น ความเชื่อมั่นจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่สมาชิกจะได้จากการเกิดประชาคม อย่างที่ 2 คือลดความขัดแย้ง การที่มีประชาคมเกิดขึ้นจะทำให้เราได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดขึ้น ความขัดแย้งในเรื่องของชายแดน เช่น ไทย-กัมพูชา หรือ ไทย-พม่าควรจะลดน้อยลง อย่างที่ 3 คือการลดต้นทุนราคาสินค้าที่เราขึ้นในประชาคมและจะซื้อขายกัน เรามีเขตการค้าเสรีอาเซียนเกิดขึ้น เมื่อก่อนการซื้อขายระหว่างประเทศที่มีการเก็บภาษี วันนี้ภาษีที่เก็บจะลดลง และในอีก 3 ปีข้างหน้าคือวันที่ 1 มกราคม ปี 2015ที่จะเกิดAECขึ้น ถือเป็นวันที่จะลดภาษีอย่างเต็มที่ จนแทบจะไม่มีการเก็บภาษีระหว่างประเทศสมาชิกเลย อย่างที่ 4 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสร้างความเชื่อมั่นในวงกว้าง และสร้างอำนาจในการต่อรอง เมื่อนานาชาติเห็นว่าเรามีการสร้างเครือข่ายร่วมมือกัน ลดความขัดแย้ง มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อจะออกมาพูดอะไรก็ออกมาพูดพร้อมกัน จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น
ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ เช่น การค้าขายระหว่างกัน 10 ประเทศในอาเซียนจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และสูงสุดในปี 2015 วันนี้ประเทศอื่นที่จะส่งออกไป ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่นต่างมีเศษฐกิจที่หดตัวลง แต่ในขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านเราขยายตัวกันอยู่ในขณะที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี เมื่อก่อน 44 ปีที่แล้วเราไม่ค่อยได้คุยกัน เมื่อไม่คุยกันทำให้เกิดความกลัว นำไปสู่การสะสมอาวุธ แต่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 44 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ พูดได้ว่าความใกล้ชิด การพูดคุยของสมาชิก 10 ประเทศนี้มีมากขึ้น เรามีเลขาธิการของอาเซียนเป็นคนไทยอยู่ในปัจจุบันคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อเรามีการพูดคุยกันมากทำให้เกิดสันติภาพและความเชื่อมั่นกันระหว่างสมาชิก และส่งผลทำให้การค้าระหว่างชายแดนมากขึ้น
เมื่อ 44 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและเวียดนามถือว่ามีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคมาก เพราะเวียดนามมีความเข้มแข็งมาก มีทหารเกือบ 2,000,000 คน พร้อมที่จะรุกและเข้ายึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยก็เคยทำสงครามรบกับเวียดนามที่ชายแดนเขมร เมื่อมีการพูดคุยมากขึ้น เศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น สันติภาพในภูมิภาคจะมีมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง จากที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกันกลายมาเป็นครอบครัวเดียวกัน
สิ่งที่สร้างมาทำให้นานาชาติเกิดความสนใจให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าทั่วโลกจะประโคมข่าว มีผู้นำต่างชาติไม่ว่าจะเป็นอเมริกา จีน ญี่ปุ่น หรือรัสเซียเข้ามาร่วมประชุมปรึกษาพูดจา และถือว่าเวทีอาเซียนเป็นโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกัน เป็นสิ่งที่นานาชาติได้เริ่มเปลี่ยนมุมมองแล้ว และเกิดเป็นอาเซียนบวก 6 ที่มีจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียมาร่วม นอกจากนั้น ยังจะขยายเป็นอาเซียนบวก 8 และอาเซียนบวก 9 โดยมีรัสเซียเป็นประเทศที่ 7 อเมริกาเป็นประเทศที่ 8 และสหภาพยุโรปเป็นอันดับที่ 9
หากพูดถึง 9 ประเทศบวกกับอาเซียนแล้ว เท่ากับขนาดของเศรษฐกิจกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในอาเซียน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการเดินทางจากคนทั่วโลกเข้ามาในอาเซียนถือว่ามากที่สุด มีการร่วมลงทุนระหว่างสมาชิกต่อสมาชิกมากขึ้น และเมื่อสันติภาพได้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ก็มีการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน